
เสียงเพลงเป็นเหมือนยาวิเศษที่ช่วยกล่อมเกลาจิตใจของเราให้ผ่อนคลายลงได้ หรือจะปลุกเร้าให้สนุกสนานก็ได้เช่นกัน แต่จากบันทึกทั้งหมดที่ผ่านมามีเพียงเสียงเพลงประเภทเดียวเท่านั้นได้รับการวิจัยอย่างเป็นทางการ ว่ามีผลต่อคลื่นสมองของเราจริงๆ เรียกว่าเมื่อไรที่ได้ฟัง เสียงเพลงเหล่านั้นจะปรับอารมณ์และความนึกคิดของเราอย่างแท้จริงด้วยการเปลี่ยนระดับคลื่นพลังงานของสมอง ไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกที่เราอาจจะคิดไปเองเท่านั้น และเสียงเพลงประเภทที่กำลังกล่าวถึงนี้ก็คือ ดนตรีคลาสสิกนั่นเอง
เอกลักษณ์ของดนตรีคลาสสิกในสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน
ต้นกำเนิดของดนตรีคลาสสิกมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นงานศิลปะจากฝั่งตะวันตกที่น่าสนใจและชวนให้หลงใหลอย่างมาก ว่ากันว่าเพลงคลาสสิกส่วนใหญ่จะเป็นบทเพลงที่แต่งโดยอัจฉริยะทางด้านเสียงเพลง และเมื่อบทเพลงนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้วมันก็จะคงอยู่ไปอีกนานเท่านาน อย่างเช่น บทเพลง Symphony No.5 ของ Beethoven บทเพลง Wedding March ของ Richard Wanger เป็นต้น บทเพลงเหล่านี้ต่อให้ไม่ได้เป็นคนที่ชื่นชอบในเพลงคลาสสิกก็ยังต้องเคยได้ยินอย่างแน่นอน รูปแบบของการแสดงดนตรีคลาสสิกก็มักจะมาในรูปแบบของวงดนตรี อันประกอบเครื่องดนตรีหลายชนิด แต่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 4 กลุ่ม ดังนี้
– เครื่องสาย หมายถึง เครื่องดนตรีที่ควบคุมโทนเสียงด้วยสายขึงทั้งหมด เช่น ไวโอลิน เชลโล วิโอลา เป็นต้น
– เครื่องลมทองเหลือง หมายถึง เครื่องดนตรีที่ต้องอาศัยลมช่วยทำให้เกิดเสียง พูดง่ายๆ ก็คือเครื่องเป่าที่ทำจากทองเหลืองนั่นเอง เช่น ทูบา ทรอมโบน เป็นต้น
– เครื่องลมไม้ หมายถึง เครื่องดนตรีประเภทเป่าที่ทำจากไม้ เช่น คลาริเน็ต ปิคโคโล เป็นต้น
– เครื่องกระทบ หมายถึง เครื่องดนตรีที่ต้องอาศัยการตีเพื่อให้เกิดเสียง เช่น กลองทิมปานี ฉาบ เป็นต้น
โดยที่ในการแสดงแต่ละครั้งไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดนตรีครบทั้งหมดก็ได้ เนื่องจากจะมีการแบ่งเป็นแสดงเดี่ยว แสดงวงเล็ก และแสดงแบบเต็มวงใหญ่ แล้วแต่ความเหมาะสมของโอกาสและสถานที่
ดนตรีคลาสสิคยอดนิยมในประเทศไทย
แม้ว่าในบ้านเราจะไม่ได้มีความนิยมชมชอบในดนตรีคลาสสิกมากเท่ากับฝั่งยุโรปหรือบางประเทศในแถบเอเชีย แต่เราก็ได้รับอิทธิพลของดนตรีคลาสสิกมาบ้างเหมือนกัน เพียงแต่การจัดแสดงอาจจะยังอยู่ในกลุ่มคนที่เฉพาะ หรือจัดในโอกาสและกิจกรรมพิเศษเท่านั้น ซึ่งตัวอย่างของการบรรเลงดนตรีคลาสสิกในบ้านเรามีดังต่อไปนี้
– ละครเวที ด้วยความที่เป็นการแสดงสด นักแสดงทุกคนต้องใช้พลังงานในการสื่อสารถึงผู้ชมอย่างเต็มที่ การบรรเลงดนตรีสดโดยเชื่อมโยงกับอารมณ์ของนักแสดงในขณะนั้นจึงช่วยให้ความน่าสนใจของละครเพิ่มมากขึ้น ละครเวทีฟอร์มยักษ์ทุกเรื่องจึงเลือกที่จะใช้วงดนตรีคลาสสิกมาร่วมแสดงด้วยเสมอ
– การแสดงเดี่ยวของนักดนตรีคลาสสิก ลักษณะแบบนี้จะมีให้เห็นบ้างประปรายตามโอกาสสำคัญๆ และประเภทของเครื่องดนตรีที่ถูกเลือกนำมาแสดงก็มีไม่มากนัก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเรามีบุคลากรที่เรียนรู้เครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ในวงดนตรีคลาสสิกค่อนข้างน้อย ครั้นจะหาคนที่มีฝีมือเก่งกาจก็ยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่
– วงขับร้องประสานเสียง ไม่ใช่ว่าดนตรีคลาสสิกจะมีแต่เพลงบรรเลงเท่านั้น เพลงขับร้องก็มีด้วยเหมือนกัน โดยนักขับร้องทุกคนจะมีโทนเสียงเฉพาะของตัวเอง เช่น โซปราโน เมซโซ-โซปราโน เบส เป็นต้น แล้วร่วมกันขับร้องร่วมกับเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น แล้วเพิ่มลูกเล่นในการประสานเสียงให้มากขึ้นแทน
จะเห็นได้ว่าช่องการทางเรียนรู้และการนำเสนอดนตรีคลาสสิกในบ้านเรายังไม่ได้มีแพร่หลายมากนัก หากไม่ได้พาตัวเองเข้าไปในกลุ่มคนที่ผูกพันกับดนตรีคลาสสิก ก็ไม่มีทางที่จะได้ยินตามสถานที่ทั่วไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ก็ถือว่าคนเริ่มเปิดกว้างและเปิดรับดนตรีคลาสสิกมากขึ้นแล้ว ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ฟังยากอีกต่อไป อีกไม่นานนี่อาจจะกลายเป็นแนวเพลงยอดนิยมเหมือนเพลงสไตล์อื่นๆ ก็ได้